ส่วนของอุปกรณ์หลักๆ ก็ว่ากันมาเกือบครบแล้ว คราวนี้มาว่ากันต่อด้วย อุปกรณ์เสริมสวยอีกชิ้นนึงที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ

เพราะมันทำหน้าที่ตกแต่งผิวหน้าน้ำในบ่อให้ใสสวย เป็นมันเงา ไร้คราบสกปรก ราคาไม่แพงแต่ประโยชน์เกินคาดครับ … ดูหน้าตาชัดๆ เลยครับ

 

surface skimmer

การใช้ surface skimmer ที่ได้ผลมาก ก็ต้องตรวจดูทิศทางของน้ำในบ่อโดยรวมด้วยนะครับ จับทิศทางของน้ำให้ดี ทำให้ทิศทางของน้ำไหลมาหาจานให้ได้ ไม่ว่าจะโดยปั้มน้ำพ่นดันผิวน้ำมาเอง หรือมาจากแรงของน้ำตก หรือแรงกระเพื่อมจากฟองของจานอ๊อกซิเจน  อะไรก็ได้ทั้งนั้น

 

เพราะผิวหน้าน้ำจะลำเลียงกันมาหาจานของเรา และหน้าน้ำที่มันๆ เมือกๆ ฝุ่นๆ อะไรพวกนี้ ก็จะถูกดูดเข้าไปในช่องกรองของเราหมดเกลี้ยงไปเลย

 

 

.

ย้ำแรงๆ ตรงนี้ชัดๆ ว่าเอาผิวหน้าน้ำเข้าไปที่กรองช่องแรกนะครับ กักไว้ที่นี่ก่อนแล้วไล่ฟองออกให้เร็วด้วยนะครับ เพราะมันจะมาเยอะมาก เก็บแช่ไว้ในนี้นานๆ ไม่ดีครับ มันสกปรก ไล่ออกด่วนๆ ทำทุกวันได้ก็ยิ่งดีครับ วิธีไล่ออกก็ใช้วิธีล้นน้ำทิ้ง ด้วยการเติมน้ำใหม่เพิ่มเข้าไปนั่นเองครับ ทำท่อล้นน้ำทิ้งไว้ในช่องนีด้วยกันไปเลย สะดวกดี

……..

มาถึงตอนนี้บ่อปลาเราน่าจะครบสมบูรณ์แบบกันแล้วนะครับ จะขาดเหลืออะไรก็ค่อยๆ เติมกันได้

ตอนนี้ผมขอแนะนำกิจวัตรประจำวันการดูแลบ่อเรามั่งดีกว่า ก็เราตั้งใจทำบ่ออย่างเต็มที่จนเสร็จสมบูรณ์แล้วจะไม่รู้วิธีดูแลได้อย่างไรใช่ไหมครับ เดี๋ยวก็กลายเป็นบ่อโทรมๆ ก่อนวัยอันควร

.

กิจวัตรของเรา … คนรักปลา

ในทุกๆ วันช่องกรองแรกที่รับน้ำจากสะดือบ่อที่เข้มข้นไปด้วยตะกอนทุกขนาด เศษใบไม้ นู่นนี่ เยอะแยะ และ ช่องกรองของเราก็เก็บไว้ได้มากมายนั้น อย่าลืมว่าทุกอย่างก็ยังอยู่ในระบบน้ำในบ่อเราอยู่ดี ยังไม่ได้ถูกกำจัดออกไปซะที่ไหน  

งั้นหน้าที่ของเราก็คือแวะเวียนมา ระบายตะกอนในช่องแรกนี้ออกไปจากระบบให้ได้บ่อยๆ ใครที่ว่างมากหน่อยก็ทำทุกวันตอนเช้านะครับ ถ้าว่างน้อยลงหน่อยก็อาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่ค่อยว่างก็ ต้องทำให้ว่างบ้างนะครับ ถ้าปลาป่วยก็จะไม่เป็นอันทำงานนะครับ

มาดูช่องชีวภาพมั่งดีกว่า ช่องนี้เป็นกองกลางที่คอยดูแลระบบส่วนใหญ่ของบ่อเราเลย ใครชอบดูฟุตบอลบอลก็คงเข้าใจดีนะครับ ว่าทีมไหนได้กองกลางดีๆ รับรองว่ากองหน้าทำประตูได้สบาย แต่กองกลางของระบบบ่อกรองเรามีหน้าที่ที่ละเอียดอ่อนมากนะครับ

เขาเหล่านั้นต้องการน้ำที่ไหลผ่านตลอดเวลา ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่เพียงพอ และอากาศด้วยเช่นกัน

ยังไงก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าห้ามปิดปั้มน้ำ ปั้มลม เราจึงต้องจัดวางวัสดุกรองของเราให้โปร่งพอสมควรเพื่อให้ของเสียได้ไหลผ่านวัสดุกรองได้ทั่วๆซึ่งก็คืออาหารของเขานั่นเอง และต้องมีการเติมอากาศให้สม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดเวลา

แบคทีเรียที่เกาะอาศัยที่วัสดุกรองของเรา ต้องการความสะอาดเหมือนกันนะครับ เราต้องระมัดระวังสุขภาพพวกเขามากๆ เพราะการปล่อยเขาทิ้งไว้นานไปจนตะกอนอุดตันเต็มผิววัสดุกรองก็ทำให้แบคทีเรียจับอาหารกินไม่ได้ก็จะตายไป เกิดอาการระบบล่มเป็นน้ำเขียวกันเลยทันที แต่ครั้นจะล้างบ่อยๆ เอาให้สะอาดเอี่ยมก็ไม่ได้นะครับ แบคทีเรียหลุดหายไปหรือโดนคลอรีนแรงๆ เข้าไปก็เจ๊งได้เหมือนกัน

เรื่องนี้เจ้าของบ่อต้องมีศิลปะในการจัดการหาช่วงเวลาที่เหมาะสมกับบ่อเราเองนะครับ

เพราะแต่ละบ่อก็มีปลาไม่เท่ากัน สัดส่วนวัสดุกรองต่อบ่อก็ไม่เท่ากัน แถมมือหนักในการให้อาหารปลาก็ไม่เท่ากันอีก ค่อยๆ หากันให้เจอนะครับ ลองดูจาก 1 อาทิตย์ต่อครั้ง เป็น 2 หรือ 3 อาทิตย์ต่อครั้ง จนลงตัวว่าทำแล้วระบบไม่ล่มเป็นใช้ได้ละครับ เอาใจช่วยนะครับ ^^

ช่องที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายคือช่องที่ให้น้ำไหลแบบนิ่งๆ เพื่อให้มีการตกตะกอนที่หลงเหลือบ้าง ก็มีความคล้ายกับการดูแลช่องชีวภาพนะครับ โน่นนิด นี่หน่อยก็มีผลกับระบบบ่อเหมือนกัน  ไม่ว่าล้างบ่อย หรือ นานๆ ล้างทีก็ต้องสังเกตุสภาพน้ำให้ดีนะครับ ถ้าผิวหน้าน้ำที่มีฟองเหนียวๆ ลอยมากเกินไป ก็แสดงว่าระบบเดินทางมาจนเกือบล่มแล้ว ต้องรีบจัดการโดยด่วนครับ

สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำก็คือการเติมจุลินทรีย์ EXtra 4 bac ลงไปในระบบนะครับ มันทำให้กากตะกอนที่มีจำนวนมากนั้น คลายพิษสงลงไปได้เยอะเลย ค่าของเสียที่มีแบบเต็มๆ ก็ลดลงได้มากมาย ทำให้กรองกายภาพช่องแรกก็งานเบาลงไปเหมือนกัน เติมอาทิตย์ละ 1-2 ครั้งอย่าให้ขาดนะครับ 

การดูแลบ่อเป็นประจำ จะทำให้การเลี้ยงปลาคาร์พมีความสุขขึ้นมาก ปลาจะแข็งแรง สีสวย กินอาหารเก่ง ต้านทานโรคได้ดีมาก เราเลยเห็นว่าบ้านและสถานที่สวยๆ ในปัจจุบันนี้ มีบ่อปลาคาร์พเป็นจุดเด่นกันมากมาย แทนที่บ่อโชว์เฉยๆ กันไปเลยครับ

Comments are closed.